สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(๑) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม
(๒) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้
(๓) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม
(๔) เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมมิได้ได้มาซึ่งของแทน หรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายไป

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5006/2538 ข้อความในพินัยกรรมข้อ1ระบุว่าแม้พ.และล. จะได้แสดงเจตนายกทรัพย์สินของตนที่มีอยู่ขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่ผู้เดียวแต่พินัยกรรมข้อ2ระบุว่า"แต่พินัยกรรมนี้ให้เงื่อนไขดังนี้"การยกทรัพย์สินให้โจทก์ตามพินัยกรรมข้อ1จึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมข้อ2ด้วยทั้งพินัยกรรมข้อ2ข.ระบุว่าหากพ.ตายก่อนล. ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนี้ทั้งหมดแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมที่ประสงค์ให้พินัยกรรมข้อ2เป็นเนื้อหาของพินัยกรรมด้วยมิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องระบุอีกเพราะมีข้อกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมข้อ1อยู่แล้วและพินัยกรรมข้อ2ข. ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมดจึงไม่มีทรัพย์ตามพินัยกรรมที่จะตกทอดแก่โจทก์ในกรณีที่ล. ถึงแก่ความตายภายหลังอีกพินัยกรรมดังกล่าวจึงมีเนื้อหาและผลบังคับตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ2เท่านั้นหาใช่ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ1มีผลบังคับเป็นหลักไม่ เมื่อบุตรของโจทก์อุ้มท้องอยู่ในขณะที่มีการทำพินัยกรรมได้แท้งก่อนที่จะคลอดออกมาและล.ผู้ทำพินัยกรรมร่วมกับพ. ได้ถึงแก่ความตายก่อนพ. ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ2ค.ที่ระบุให้ล. ยกทรัพย์ให้บุตรโจทก์ที่โจทก์อุ้มท้องอยู่ถ้าได้คลอดออกมามีชีวิตอยู่จึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1698(2)เพราะเงื่อนไขนั้นไม่อาจสำเร็จได้เมื่อล. ตามก่อนพ.พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามข้อ2ก.ที่ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้พ. ข้อกำหนดพินัยกรรมที่เหลือในข้อ2ข. ที่พ.แสดงเจตนาไว้ว่าถ้าพ.ตายก่อนล.ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมดจึงตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1698(2)โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้รับทรัพย์มรดกของพ. ตามพินัยกรรมมาฟ้องจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของพ. ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2536 บ. ผู้รับพินัยกรรม ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์ให้ บ. จึงตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1698 ทรัพย์มรดกในส่วนนี้ตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย มีเหตุสมควรที่จะร่วมเป็นผู้จัดการมรดกกับผู้ร้อง